การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประวัติส่วนตัว



                             ชื่อ  นางสาวสุพัตรา    ทานะกาศ    ชื่อเล่น  ปุ๋ม
                                    เกิดวันที่  31  มีนาคม  พ.ศ.  2537
                             คณะครุศาสตร์    สาขาการประถมศึกษา   หมู่  3
                                        รหัสนักศึกษา  554188086
                                            อาหารที่ชอบ  ต้มยำกุ้ง
                                         เครื่องดื่มที่ชอบ   น้ำผลไม้
                                        งานอดิเรก  อ่านหนังสือ ดูทีวี
                                      บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

          กิจกรรมการเรียนการสอน คือ วิธีการที่จะนำผู้เรียนไปสู่เป้าหมายหรือจุดประสงค์การเรียนการสอนที่กำหนด  การเลือกกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้จึงเป็นความสามารถและทักษะของครูผู้สอนในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิผล
          ข้อมูลสำคัญที่ครูผู้สอนต้องศึกษาทำความเข้าใจเพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม  ประกอบด้วย  การวางแผนการสอน  องค์ประกอบของการเรียนการสอนและเลือกเทคนิควิธีการสอน  เพื่อนำไปสู่การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างมีประสิทธิภาพ
1.การวางแผนการสอน
          ในการวางแผนการเรียนการสอน  คำถามสำคัญที่ครูผู้สอนต้องหาคำตอบให้ได้ทุกครั้ง  คือ
1.1      สอนทำไม  หมายถึง  จุดประสงค์ของการเรียนการสอนซึ่งในการสอนแต่ละครั้งผู้สอนจะต้องทราบจุดมุ่งหมายของการสอนที่ชัดเจนและแน่นอน  เพื่อที่จะได้กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้จะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงกิจกรรมการเรียนการสอนรวมทั้งการประเมินผล
1.2      สอนอะไร  หมายถึง  เนื้อหาสาระที่กำหนดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้  เนื้อหาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญควบคู่กับจุดประสงค์การเรียนรู้  ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะต้องมีความสอดคล้องกัน  เพื่อบ่งชี้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
1.3      สอนอย่างไร  หมายถึง  กิจกรรมการเรียนการสอนที่จัดขึ้นเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนบรรลุผล  การพิจารณาเลือกเทคนิควิธีการสอนนั้นจะต้องคำนึงถึงจุดมุ่งหมาย  กระบวนการเรียนการสอนและผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน  เทคนิควิธีการสอนต่างๆที่ยังมีในปัจจุบันนี้ยังไม่มีผลการวิจัยใดที่บ่งชี้ว่า  วิธีใดดีที่สุดเพราะวิธีสอนแต่ละวิธีมีลักษณะเด่นและข้อจำกัดในตัวเอง  ซึ่งครูจะต้องพิจารณาเลือกและนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับจุดประสงค์  เนื้อหา  รวมทั้งความสามารถความสนใจและวิธีเรียนของผู้เรียนด้วย
1.4      ผลการสอนเป็นอย่างไร  หมายถึง  การประเมินผลการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ทราบว่าเกิดการเรียนรู้ตามที่พึงประสงค์หรือไม่  การระเมินผลจึงเป็นการหาประสิทธิผลของการเรียนการสอนว่ามีจุดใดที่ต้องปรับปรุง  หรือผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จนสามารถเรียนเรื่องต่อไปได้มากน้อยเพียงใด  ผลการประเมินจึงสามารถนำมาอธิบายประสิทธิผลของการเรียนการสอนในภาพรวมและบ่งชี้ว่าควรปรับปรุงในจุดใดบ้าง  การเรียนการสอนจึงจะเป็นไปตามความคาดหวังของหลักสูตร
2. องค์ประกอบของการเรียนการสอน
          ในการจัดการเรียนการสอน  องค์ประกอบสำคัญที่ครูผู้สอนต้องให้ความสนใจ  เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน  ประกอบด้วย
2.1 ผู้เรียน    
          ผู้เรียนเป็นส่วนสำคัญของการจัดการเรียนการสอน  เพราะหากไม่มีผู้เรียนแล้วการเรียนการสอนก็จะไม่เกิดขึ้น  ครูผู้สอนจำเป็นต้องรู้พื้นฐานของผู้เรียนที่ตนจะสอนก่อนว่าอย่างไร  เมื่อกำหนดจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนก็ต้องคำนึงว่าต้องการให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด  การคัดเลือกเนื้อหาตลอดจนคัดเลือกกิจกรรมการเรียนการสอน  ก็ต้องคำนึงว่าจะจัดอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับความสามารถและความสนใจของผู้เรียนเป็นส่วนรวม  และขณะเดียวกันจะสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียนด้วย  และในขั้นสุดท้าย  คือ  ผลการสอน  ซึ่งผู้สอนจะต้องประเมินผลการเรียนการสอนที่จัดขึ้นว่าได้ทำให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลง  มีความรู้ความเข้าใจ  เกิดทักษะและมีคุณลักษณะและเจตคติตามจุดประสงค์ที่วางไว้หรือไม่เพียงใด  ผู้เรียนจึงมีความเกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการเรียนการสอน
          การรู้จักผู้เรียนจะเป็นผลดีต่อการเรียนการสอน  ดังนี้
1)ช่วยให้กำหนดจุดประสงค์ของการสอนให้มีความเหมาะสมไม่สูงหรือไม่ต่ำจนเกินไป
2)ช่วยให้การกำหนดเนื้อหาสาระเป็นไปอย่างเหมาะสมกับระดับความรู้ความสามารถของผู้เรียน
3)ช่วยในการแบ่งกลุ่มผู้เรียนหรือมอบหมายให้พอเหมาะกับความรู้ความสามารถ  และความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน
4)ช่วยให้ครูผู้สอนรู้ว่าในระหว่างการเรียนการสอนสมควรจะได้ช่วยเหลือผู้เรียนกลุ่มใดและคนใดเป็นกรณีพิเศษเพื่อจะทำให้สามารถเรียนได้ทันผู้อื่น
    ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียนซึ่งจะมีผลต่อการเรียนรู้  ที่ครูผู้สอนควรจะนำมาพิจารณาประกอบการจัด
กิจกรรมการเรียนการสอน  ประกอบด้วย
2.1.1 ความสามารถทางสติปัญญา(Learning  Abilities) ก่อนที่จะกำหนดจุดประสงค์และเนื้อหาในการสอนครูควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้เรียนที่จะสอนโดยอาจศึกษาจากระเบียนสะสม  หรือผลการเรียนที่ผ่านมา  หรืออาจดูจากคะแนนทดสอบเฉลี่ยรายบุคคลหรือคะแนนมาตรฐานกลางของกลุ่ม  ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จในอดีตและชี้วัดถึงอนาคตของผู้เรียนได้  ความรู้ความสามารถของผู้เรียนและสิ่งที่ผู้เรียนคาดหวังจะเรียนรู้ในอนาคต  คือ  ข้อมูลสำคัญที่ครูผู้สอนศึกษาโดยอาจใช้วิธีการประเมินทางอ้อมเพื่อการวางแผนการสอนที่มีประสิทธิผล
2.1.2 วิธีการเรียน (Styles  of  Learning) ผู้เรียนแต่ละคนมีความต้องการในการเรียนที่แตกต่างกัน  เนื่องจากแต่ละคนมีวิธีการเรียนในหลายๆลักษณะต่างกันไป  เช่นเดียวกับครูก็มีวิธีการสอนที่แตกต่างกัน  จากการวิจัยพบว่า  ผู้เรียนบางคนมีลักษณะชอบแข่งขันมากกว่าผู้อื่น  บางคนตอบสนองได้ดีต่อสิ่งที่เสนอข้อมูลตามลำดับขั้นตอน  บางคนเรียนได้ดีด้วยวิธีการแก้ปัญหา  บางคนชอบฟัง  บางคนชอบอ่านหรือดูภาพยนตร์  บางคนชอบเรียนคนเดียวขณะที่บางคนเรียนได้ดีในกลุ่ม
          เมื่อผู้เรียนชอบเรียนชอบเรียนด้วยวิธีแตกต่างกัน  เขาก็ต้องการเทคนิควิธีการสอนที่แตกต่างกันด้วย  ยิ่งครูเข้าใจวิธีการเรียนของผู้เรียนมากเท่าใดยิ่งสามารถวางแผนการจัดการเรียนการสอนที่ใช้วิธีการหลากหลายสนองความต้องการของผู้เรียนในห้องเรียนได้มากขึ้นเท่านั้น  สิ่งหนึ่งที่ครูควรคำนึงอยู่เสมอคือ  มีวิธีการเรียนที่หลากหลายในห้องเรียน  หากครูไม่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายและสอดคล้องกับความแตกต่างเหล่านั้นแล้ว  จะมีผู้เรียนหลายคนที่ถูกกีดกันออกไปจากกระบวนการเรียนการสอนของครู
2.1.3 ประสบการณ์เดิม (Background  of  Experience)  เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีและรวดเร็วขึ้น  หากผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานดีก็เรียนได้เข้าใจรวดเร็วเนื่องจากเห็นความสัมพันธ์ของความรู้เดิมกับความรู้ใหม่
          ประสบการณ์และความรู้พื้นฐานเดิมของผู้เรียนจึงเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับครูที่จะใช้ประกอบการ
คัดเลือกประสบการณ์ใหม่แก่ผู้เรียน  ตามธรรมชาติของการเรียนรู้ประสบการณ์หรือความรู้ใหม่ที่จัดให้
ผู้เรียนถือว่าเป็น อุปสรรคที่จะให้ผู้เรียนได้แก้ปัญหาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้  หากประสบการณ์ใหม่มีความ
เหมือนหรือซ้ำกับประสบการณ์เดิม  ผู้เรียนจะรับทราบได้โดยไม้องใช้ความพยายามหรือใช้ความสามารถ
แต่อย่างใด  ซึ่งกรณีนี้ถือว่าการเรียนรู้ไม่เกิดขึ้นเพราะผู้เรียนไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  หรือไม่ให้เกิด
ความรู้ใหม่แต่อย่างใด  แต่หากครูผู้สอนนำความรู้หรือประสบการณ์ที่ไม่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับ
ประสบการณ์เดิมมาเสนอการเรียนรู้ก็ย่อมเกิดขึ้นด้วยความยากลำบาก  เกิดความสับสนเพราะผู้เรียนไม่เห็น
ความสัมพันธ์ของความรู้ต่างๆเหล่านั้น
          ครูผู้สอนสามารถสามารถทราบข้อมูลความรู้พื้นฐานเดิมของผู้เรียน  ได้จากผลการเรียนในชั่วโมง
ก่อนหรือจากการทำการทดสอบก่อนสอน
2.2 จุดประสงค์การเรียนการสอน (Instructional  Objective)
          จุดประสงค์การเรียนการสอน  คือ  ความคาดหวังของการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่ต้องการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้  ดังนั้น  จุดประสงค์การเรียนการสอนจึงมีความชัดเจนกว่าจุดประสงค์ของหลักสูตรและรายวิชาจุดประสงค์จะระบุว่าให้ผู้เรียนบรรลุถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ในระดับใด  เพื่อที่จะสามารถทำการประเมิน  ตรวจสอบได้ว่ากระบวนการจัดการเรียนการสอนนั้น  เป็นไปตามเป้าหมายจริงหรือไม่  ถ้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย  จะมีวิธีการตรวจสอบปรับแก้กระบวนการเรียนการสอนอย่างไร
          ในการวางแผนการเรียนการสอน  เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนต้องจัดการเรียนการสอนให้ได้ผลตามจุดประสงค์ของหลักสูตร  ครูผู้สอนและผู้เรียนต้องเข้าใจตรงกันว่าการเรียนการสอนนั้นจะมุ่งให้เรียนมีคุณลักษณะเช่นใด  ดังนั้น  จุดประสงค์ที่มีความชัดเจน  จึงมีความสำคัญ  ครูผู้สอนควรจะศึกษาความมุ่งหมายของหลักสูตรในระดับต่างๆโดยละเอียดซึ่งแบ่งได้ดังนี้
2.2.1 เป้าประสงค์ (Goal) เป็นความมุ่งหมายที่บ่งชี้แนวทางการจัดการศึกษาของส่วนรวมในระดับสูงสุด  ซึ่งการเขียนจะระบุข้อความกว้างๆทั่วๆไป
2.2.2 จุดหมายของหลักสูตร (Aim) เป็นการสื่อความเข้าใจระหว่างผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษาและผู้สร้างหลักสูตรกับครูผู้สอน  จุดหมายของหลักสูตรจะกำหนดไว้อย่างกว้างๆ  แต่แคบกว่าความมุ่งหมายของการจัดการศึกษา  เพื่อผู้พัฒนาหลักสูตรจะได้บรรลุเนื้อหาวิชาที่สอนให้ได้ผลตามที่ผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษาวางไว้  และเพื่อผู้สอนจะได้ทราบเนื้อหาวิชาและกิจกรรมที่กำหนดไว้จะสอนเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางอะไร
2.2.3 จุดประสงค์การเรียนรู้ (Learning  Objective) เป็นข้อความที่ระบุจุดมุ่งหมายของการจัดการเรียนการสอนในระดับห้องเรียนของแต่ละรายวิชา  โดยแต่ละรายวิชาจะมีจุดประสงค์รายวิชาซึ่งจะเป็นสิ่งชี้แนะบอกทิศทางว่า  จะสอนให้ผู้เรียนได้อะไรบ้าง  แต่จุดประสงค์รายวิชาอาจไม่ได้ระบุชัดเจนถึงขั้นว่าควรจะกระทำอย่างไร  ครูจะต้องวิเคราะห์  เพื่อกำหนดเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ที่มีความเฉพาะเจาะจงและชัดเจนขึ้นสำหรับการจัดการเรียนการสอนและให้สามารถวัดและประเมินผลได้
          การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้  จะต้องระบุพฤติกรรมว่าผู้เรียนจะแสดงพฤติกรรมใดจึงจะเป็นที่ยอมรับว่าได้เรียนรู้ตามที่ต้องการบางครั้งจะระบุสถานการณ์  หรือเงื่อนไขที่จะให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมนั้นๆและอาจระบุเกณฑ์ที่จะยอมรับไว้ด้วย
          ประเภทของจุดประสงค์การเรียนรู้  จุดประสงค์การเรียนรู้สามารถจำแนกได้ 3 ประเภท
1.จุดประสงค์ด้านพุทธิพิสัย  (Cognitive  Objective)  เป็นจุดประสงค์ที่จะบรรยายความรู้ที่ผู้เรียนต้องได้รับ  เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดกระทำข้อมูลของผู้เรียน  โดยระบุเจาะจงถึงสิ่งที่ผู้เรียนจะสามารถทำได้อันเป็นผลของการเรียนการสอน  Benjamin  S.Bloom  และคณะได้จำแนกพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัยไว้ 6 ระดับ  ได้แก่  ความรู้  ความเข้าใจ  การประยุกต์ใช้  การวิเคราะห์  การสังเคราะห์  และการประเมินค่า
2.จุดประสงค์ด้านจิตพิสัย  (Affective  Objective)  เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกและเจตคติของผู้เรียนที่คาดหวังว่าจะเกิดการพัฒนาจากการเรียนการสอน  การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ด้านเจตคติเพื่อให้สามารถสังเกตและวัดได้อย่างชัดเจนทำได้ค่อนข้างยากเพราะพฤติกรรมบางอย่างด้านนี้มีความซับซ้อนคลุมเครือที่แสดงออกมาให้สังเกตและวัดได้อย่างตรงกัน  ระดับพฤติกรรมด้านนี้มี 5 ระดับ  คือ การรับรู้  การตอบสนอง  การเห็นคุณค่า  การจัดระเบียบและการแสดงคุณลักษณะ
3.จุดประสงค์ด้านทักษะพิสัย  (Psychomotor  Objective)  เป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงทักษะทางกายภาพ  ซึ่งมีระดับพฤติกรรม 5 ระดับ  คือ  ความพร้อม  การสังเกต  การรับรู้  การตอบสนอง  และการปรับตัว
2.3. เนื้อหาสาระ
          เนื้อหาสาระเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้การเลือกเนื้อหาสาระที่จะนำมาสอนนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงความยากง่ายให้พอเหมาะกับความสามารถของผู้เรียนและขณะเดียวกันต้องให้มีความต่อเนื่องกับความรู้พื้นฐานเดิมของผู้เรียนด้วย  เนื้อหาสาระสามารถจำแนกเป็น 3 ประเภทหลักๆ  ดังนี้
2.3.1.ข้อเท็จจริง  (Fact)  คือ  เนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  เองใดเรื่องหนึ่ง  ซึ่งเกิดขึ้นในอดีตและคงอยู่ในปัจจุบัน  โดยไม่ได้เขียนอยู่ในลักษณะแสดงการทำนายและได้มาจากกระบวนการสังเกต (Eggen,1979)  ข้อเท็จจริงอาจได้มาจากการสังเกตโดยตรง  เช่น  การทดลองในห้องปฏิบัติการ  หรืออาจได้มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้  เช่น  จากพจนานุกรม  หรือสารานุกรม  การเรียนรู้เนื้อหาระดับนี้จะใช้พฤติกรรมระดับความรู้ความทรงจำ
2.3.2.ความคิดรวบยอด  (Concept)  คือ  คำหรือวลีที่ใช้เรียกประเภท  หรือหัวข้อของข้อมูลที่จัดกลุ่มแล้เพื่อแสดงลักษณะรวมๆที่เด่นชัดของกลุ่มข้อมูลนั้นๆในการสร้างความคิดรวบยอด  ผู้เรียนต้องให้ความสนใจกับความคล้ายคลึงของข้อมูล  โดยไม่สนใจความแตกต่าง  แล้วจัดสิ่งที่คล้ายคลึงเข้ากลุ่มเดียวกันการเรียนรู้ความคิดรวบยอดนอกจากจะต้องรู้และจำความหมายแล้วยังต้องอาศัยความเข้าใจความคดรวบยอดแต่ละเรื่องด้วย
2.3.3.หลักการหรือเหตุผล  (Generaliazation)  คือ  ประโยคที่สัมพันธ์หรือเชื่อมโยงความคิดรวบยอดสองอย่างเข้าด้วยกัน  หลักการจะต้องประกอบด้วยความคิดมากกว่าหนึ่งความคิด  และเขียนในลักษณะแสดงการทำนาย  (predictive)  เช่น  เมืองสำคัญๆมักจะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายใหญ่ๆ  การเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการหรือเหตุผลต้องอาศัยทั้งความรู้ความจำ  ความเข้าใจและการให้เหตุผล  ประกอบกับการเชื่อมโยงความคิดรวบยอดต่างๆเข้าด้วยกัน  จนเป็นหลักการที่ยอมรับกันทั่วไป
3.การเลือกเทคนิควิธีการสอนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
3.1.เกณฑ์ในการเลือกเทคนิควิธีการสอน  สิ่งที่ครูต้องนำมาพิจารณาเพื่อใช้ประกอบการเลือกเทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสมประกอบด้วย 
3.1.1.ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของครู  สิ่งที่ครูทุกคนนำสู่ห้องเรียน  คือ จุดเด่น  จุดด้อย  ประสบการณ์  ความสามารถและความสนใจของครู  ซึ่งจะทำให้ห้องเรียนของครูแต่ละคนแตกต่างจากห้องเรียนอื่นๆ  ครูมีแนวโน้มที่จะใช้เทคนิควิธีการสอนที่เคยใช้ได้ผลในอดีต  หรือวิธีการสอนที่รู้สึกสะดวกที่จะใช้มากที่สุด  แต่วิธีที่ใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะทำให้ครูไม่สามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญ  และทำให้ผู้เรียนเกิดคือ  ครูจำเป็นต้องมีความสามารถในการใช้เทคนิควิธีการสอนหลายๆวิธีมาใช้เพื่อสนองความต้องการของผู้เรียน
3.1.2.ความต้องการ  ประสบการณ์  และระดับวุฒิภาวะของผู้เรียน  ด้วยประสบการณ์ของครู  ครูจะรู้ว่าผู้เรียนบางคนเรียนได้ดีด้วยวิธีการสอนโดยตรง  (Direct  teaching  methods)  เช่น  การบรรยาย  การท่องจำ  บางคนเรียนได้ดีในสิ่งแวดล้อมการเรียนแบบร่วมมือ  (Cooperative  learning)  หรือบางคนเรียนได้ผลเมื่อได้เรียนอิสระ  บางคนต้องการแค่ระดับความรู้ความเข้าใจ  ขณะที่หลายคนต้องการวิเคราะห์และสังเคราะห์  ข้อความรู้เกี่ยวกับผู้เรียนเกี่ยวกับผู้เรียนเหล่านี้จะช่วยให้ครูสามารถเลือกเทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสม
3.1.3.เนื้อหาและจุดประสงค์การเรียนรู้  จุดประสงค์การเรียนรู้ที่ดีจะบอกถึงสิ่งที่คาดหวังจะให้ผู้เรียนได้รับแต่หากครูไม่เชื่อมโยงจุดประสงค์กับเทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสม  ครูจะไม่สามารถทำให้การเรียนการสอนบรรลุจุดประสงค์ได้
          ครูที่ใช้วิธีสอนเพียงวิธีเดียวจะประสบความสำเร็จกับผู้เรียนประเภทเดียวและกับจุประสงค์การเรียนรู้ระดับเดียวในห้องเรียนแต่ละห้องจะมีผู้เรียนที่มีวิธีการเรียนแตกต่างหลากหลายและต้องการได้รับการพัฒนาทักษะตามจุดประสงค์ในระดับที่แตกต่างกันของจุดประสงค์  หากครูใช้วิธีการสอนแบบบรรยายวิธีเดียว  ครูจะสอนได้ผลเฉพาะผู้เรียนที่เรียนได้ดีจากวิธีการจัดการเรียนการสอนทางตรง  และครูจะสอนได้ผลเพียงพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัยเท่านั้น  ผลก็คือ  ผู้เรียนหลายคนเสียประโยชน์  เพราะวิธีการเรียนของพวกเขาไม่สอดคล้องกับวิธีการสอนของครู
          จุดประสงค์การเรียนรู้ควรเป็นข้อมูลที่สามารถแนะครูให้สามารถเลือกเทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสมที่สุด  จุดประสงค์ควรบอกครูได้ว่า  กิจกรรมตามจุดประสงค์นั้นเหมาะที่จะนำเทคนิคใดมาใช้  ไม่ว่าจะเป็นการอภิปราย  การเรียนแบบร่วมมือ  การเรียนรายบุคคล  หรือเทคนิควิธีอื่นๆ  ดังนั้น  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูต้องพัฒนาวิธีการสอนหลายๆรูปแบบอย่างหลากหลายเพื่อใช้ในห้องเรียน
3.1.4.บริบทและบรรยากาศในการเรียนการสอน  เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเทคนิควิธีการสอนบริบทและบรรยากาศนี้หมายรวมถึงทั้งในห้องเรียน  ในโรงเรียน  และในชุมชน  ครูต้องมีข้อมูลว่ามีแหล่งวิทยาการใดบ้างที่ครูพอจะใช้ได้  เพราะอาจมีกิจกรรมบางอย่างที่ครูต้องนำมาใช้  แต่ทำไม่ได้เพราะขาดแหล่งวิทยาการที่สำคัญๆหรือครูมีเวลาและสถานที่เหมาะสอเท่าใด  เช่น  หากครูทราบว่ามีการประชุมครูในช่วงบ่ายก็อาจจะไม่เลือกใช้เทคนิควิธีการและกิจกรรมที่ต้องใช้เวลาเนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา
3.2. การนำเทคนิคการสอนที่หลากหลายไปใช้  ครูมืออาชีพ  จะใช้เทคนิควิธีการสอนที่หลากหลายในการจัดการเรียนการสอน  เพื่อสนองความต้องการและวิธีการเรียนของผู้เรียน  ในการสอนแต่ละครั้ง  อาจใช้วิธีการสอนหลายๆวิธี  เช่น  อาจใช้ทั้งการนำเสนอภาพเหตุการณ์  การบรรยาย  การใช้คำถาม  การสาธิตและการทำงานกลุ่มประกอบกัน  Borich  (1988)  ได้เสนอแนะว่าแผนการสอนหนึ่งแผนที่รวมวิธีสอนหลายๆวิธี  เช่น  การสืบค้น  การอภิปราย  การถาม-ตอบ  การฝึกปฏิบัติโดยมีครูคอยให้คำปรึกษาและการให้ทำงานอย่างเป็นอิสระจะได้รับความนิยมมากกว่าแผนการสอนที่เน้นวิธีการสอนวิธีเดียว
          การเรียนการสอนจะเกิดประสิทธิผลมากเมื่อครูใช้เทคนิค  สื่อ  หรืออุปกรณ์เพื่อสร้างความสนใจในการสอนทุกขั้นตอนไม่ใช่เพียงเฉพาะขั้นนำ  สื่อหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยสร้างความสนใจจะช่วยให้ผู้เรียนมั่นใจในเนื้อหาที่จะเรียนตลอดบทเรียน  และยังทำหน้าที่เป็นตัวชี้แนะการสอนที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของทักษะ  พฤติกรรม  เจตคติและเนื้อหาที่จะเรียน  สื่อหรือวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องหรูหราราคาแพงเพื่อให้ผู้เรียนสนใจคำถาม  เกร็ดเรื่องเล่าแง่มุมที่น่าสนใจ  วีดีทัศน์  และการสาธิต  คือ  ทางเลือกที่ครูสามารถใช้ได้
          การยกย่องชมเชยถือเป็นเทคนิคการสอนอย่างหนึ่ง  ครูควรจะมีวิธีการยกย่องชมเชยหรือให้รางวัลผู้เรียนในหลายๆรูปแบบ  ไม่ใช่ใช้คำพูดยกย่องซ้ำๆเหมือนกันทุกครั้ง  แต่อาจเป็นท่าทาง  การยิ้ม  การตบไหล่เบาๆหรือการพยักหน้าก็ถือว่าเป็นการเสริมกำลังใจแก่ผู้เรียนในการยกย่องผู้เรียนว่า  ทำงานได้ดี ได้เช่นกัน
         การใช้ความคิดหรือคำตอบที่ถูกต้องของผู้เรียนเป็นตัวอย่างขณะที่ครูอธิบายเป็นเทคนิคการสอนอีกลักษณะหนึ่งที่นำมาใช้ได้  ผู้เรียนจะรู้สึกภาคภูมิใจ  หากเขารู้ว่าครูนำคำตอบหรือความคิดของเขาไปใช้เป็นตัวอย่างผลงานที่ดี  ในการใช้เทคนิคลักษณะนี้ครูอาจเริ่มต้นการสอนด้วยการตั้งคำถาม  ถามความคิดเห็นของผู้เรียนทุกคน  โดยครูเขียนทุกคำตอบลงบนกระดานและไม่มีการตัดสินคุณค่าคำตอบเหล่านั้น  การไม่ตัดสินคุณค่าจะก่อให้เกิดคำตอบที่หลากหลายและเสริมกำลังใจที่ไม่ค่อยเต็มใจเรียนให้เข้ามีส่วนร่วม  เมื่อใดที่ครูได้คำตอบค่อยอภิปรายและประเมิน
          เทคนิคการสอนอีกประการหนึ่งซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของผู้เรียน  คือ  จุดหมายปลายทางของการจัดการเรียนการสอนแต่ละครั้งแล้ว  เทคนิควิธีการสอนที่ครูเลือกใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน  คือ  วิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายปลายทางนั้น
3.3.การพิจารณาความสอดคล้องของเทคนิควิธีการสอนกับจุดประสงค์การเรียนรู้  หากจุดประสงค์การเรียนรู้  คือ  จุดหมายปลายทางของการจัดการเรียนการสอนแต่ละครั้งแล้ว  เทคนิควิธีการสอนที่ครูเลือกใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน  คือ  วิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายปลายทางนั้น
          เทคนิควิธีการสอนแต่ละอย่างมีประสิทธิผลในการสร้างทักษะ  ข้อความรู้  ประสบการณ์  และการมีโอกาสแสดงบทบาทในการเรียนของผู้เรียนแตกต่างกันไป  ดังนั้น  ในการออกแบบการจัดการเรียนการสอน  ครูผู้สอนจะต้องวิเคราะห์จุดประสงค์การเรียนรู้ก่อนว่าต้องการให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมใดในระดับใด  ก่อนที่จะเลือกเทคนิควิธีการที่มีจุดเด่นหรือมีคุณค่าในการสร้างเสริมทักษะข้อความรู้  และพฤติกรรมที่กำหนอนั้นมาใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนบรรลุจุดหมายปลายทางที่ต้องการ




บรรณานุกรม
   วัฒนาพร  ระงับทุกข์  , การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง , พิมพ์ที่ บริษัท เลิฟแอนด์ลิพเพรส  จำกัด , พ.ศ. 2541